Thursday, January 1, 2015

ย้อนอดีตกับบทความที่เขียนช่วงสิ้นปี 2002 ในผจก.รายสัปดาห์ ว่าด้วย "ที่สุดของหนังสือทางการจัดการในปี 2002" ลองดูนะครับว่าเป็นอย่างไรบ้าง




ที่สุดของหนังสือทางการจัดการในปี 2002



พอใกล้ถึงสิ้นปีก็มักจะมีการจัดลำดับสิ่งที่โดดเด่นในรอบปี เนื่องจากในบทความนี้ได้พูดถึงแนวคิดทางด้านการจัดการใหม่ๆ มาตลอด ก็เลยขออนุญาตนำเสนอรายชื่อพร้อมทั้งรายละเอียดบางส่วนของที่สุดของหนังสือทางด้านการจัดการในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งผมเองก็ต้องขออนุญาตนำมาจากรายชื่อที่ได้มีคนอื่นเขาจัดไว้อีกที เนื่องจากไม่มีปัญหาติดตามได้หมดทุกเล่ม โดยแหล่งที่ผมได้มานั้นได้มาจากวารสาร Strategy + Business ซึ่งเขามีการจัดลำดับกันเป็นประจำและเคยจัดลำดับหนังสือทางด้านจัดการแห่งสหัสวรรษไปแล้วครั้งหนึ่ง ต้องขอเรียนตามตรงว่าในรายชื่อหนังสือสุดยอดแห่งปีของวารสาร Strategy + Business นั้น บางเล่มก็ได้เคยอ่านมา บางเล่มก็ได้ผ่านตาเฉยๆ และบางเล่มก็ไม่เคยได้ยินมาก่อน ดังนั้นผมจึงขออนุญาตลงรายละเอียดในบางเล่มที่พอจะคุ้นเคยนะครับ

ในรายชื่อของ Strategy + Business นั้นเขายังแบ่งหนังสือทางด้านการจัดการออกเป็นประเภทต่างๆ ซึ่งถ้าพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างรายชื่อหนังสือแห่งสหัสวรรษ ซึ่งออกมาเมื่อสิ้นปีที่แล้วกับรายชื่อหนังสือแห่งปี 2002 ซึ่งเพิ่งออกมาจะพบว่ามีหัวข้อของหนังสือที่แตกต่างกันพอสมควร ถ้าเราจะดูหัวข้อทางด้านการจัดการที่น่าสนใจจากหัวข้อหนังสือที่ได้มีการจัดลำดับออกมา ก็แสดงว่าในช่วงรอบปีที่ผ่านมาศาสตร์ทางด้านการจัดการได้มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร ส่วนหัวข้อของสุดยอดหนังสือทางด้านการจัดการที่เหมือนกันระหว่างรายชื่อหนังสือแห่งสหัสวรรษกับรายชื่อหนังสือแห่งปีนั้นประกอบด้วย หัวเรื่องทางด้านกลยุทธ์ ด้านการจัดการ ด้านภาวะผู้นำ ซึ่งต้องถือเป็นหัวข้อและแนวคิดหลักทางด้านการจัดการที่คิดว่าคงจะอยู่ยืนยงไปอีกนาน ยากที่จะเปลี่ยนแปลง ต่อให้อีกร้อยปีข้างหน้ามีการจัดลำดับหนังสือด้านการจัดการ หัวเรื่องในด้านของกลยุทธ์ การจัดการ และภาวะผู้นำ ก็ยังคงอยู่ในรายชื่อหัวเรื่องอยู่เหมือนเดิม

สำหรับหัวเรื่องที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มมาใหม่ก็มีความน่าสนใจทีเดียว ตั้งแต่ในเรื่องของผู้นำสตรี ยุโรปใหม่ จริยธรรม และด้านเครือข่าย อย่างเช่นในเรื่องของสตรีนั้นค่อนข้างน่าสนใจทีเดียวเนื่องจากในปัจจุบันเราจะพบผู้บริหารหรือผู้นำระดับสูงขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่เป็นสุภาพสตรีมากขึ้น จนกระทั่งในแวดวงวิชาการได้เริ่มมีความตื่นตัวกันมากขึ้นถึงการศึกษาในเรื่องของผู้นำที่เป็นสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการเปรียบเทียบความสามารถในการเป็นผู้นำของสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ ซึ่งก็ยังไม่มีผลงานวิจัยไหนที่แสดงว่าผู้นำเพศไหนจะมีความสามารถมากกว่ากัน แต่เริ่มเห็นพ้องต้องกันประการหนึ่งว่าผู้นำที่เป็นสตรีมักจะมีแนวโน้มของการทำผิดจริยธรรมในการบริหารหรือการคดโกงที่น้อยกว่าผู้นำที่เป็นบุรุษ ส่วนในเรื่องของยุโรปใหม่นั้นก็ไม่น่าแปลกใจที่ต่างประเทศเขามีความตื่นตัวกัน เนื่องจากเขาได้รับผลกระทบโดยตรงแต่ของเราค่อนข้างห่างไกล เลยทำให้มีหนังสือด้านนี้เข้ามาขายในประเทศไทยไม่มากเท่าใด ส่วนในเรื่องของเครือข่าย (Network) นั้น ในปัจจุบันต่างประเทศได้ให้ความสำคัญกับเครือข่ายมากขึ้น ทั้งเครือข่ายในระดับส่วนบุคคลและเครือข่ายระดับองค์กร จริงๆ แล้วเรื่องเครือข่ายนั้นในประเทศเอเชียเราก็ตื่นตัวกันมานานแล้ว ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือในเรื่องของ Quanxi หรือความสัมพันธ์ส่วนบุคคลที่เจอกันเยอะมากในวัฒนธรรมที่มีคนจีนอาศัยอยู่เยอะ เรามาลองดูรายชื่อและหนังสือบางส่วนที่เขาได้มีการจัดลำดับให้เป็นสุดยอดแห่งหนังสือด้านการจัดการในปีนี้กันนะครับ

เรามาเริ่มที่หนังสือทางด้านกลยุทธ์กันก่อนนะครับ หนังสือกลยุทธ์ ซึ่งวารสาร  Strategy + Business ได้เลือกออกมาสี่เล่ม ซึ่งทั้งสี่เล่มนี้เป็นหนังสือที่นำเสนอกลยุทธ์ หลักการ แนวคิด และเครื่องมือที่ช่วยทำให้ผู้บริหารสามารถประสบความสำเร็จได้ หนังสือเล่มแรกนั้นท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านคงจะรู้จักกันดีคือ Jack: Straight From the Gut ของอดีตผู้บริหารสูงสุดของจีอีคือ Jack Welch จริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้ได้จัดพิมพ์ในปี 2001 แต่ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมวารสารนี้ถึงได้จัดให้เป็นสุดยอดหนังสือด้านการจัดการในปีนี้ ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ได้จัดพิมพ์ออกมาเป็นฉบับปกอ่อนและมีวางขายอยู่ในร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป คุณค่าที่สำคัญของหนังสือนี้นอกเหนือจากประวัติของตัว Jack เองหรือของจีอี แล้วคงอยู่ที่แนวคิดทางด้านกลยุทธ์ของ Jack ที่ทำให้จีอีกลายเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก รวมทั้งแนวทางด้านกลยุทธ์และการจัดการต่างๆ ที่ผู้บริหารสามารถนำไปปรับใช้ได้ภายในองค์กร สุดยอดหนังสือด้านกลยุทธ์เล่มที่สองแห่งปีนี้ชื่อ The Art of Profitability เขียนโดย Adrian Slywotzky โดยในหนังสือเล่มนี้ผู้แต่งได้นำเสนอตัวแบบในการทำกำไร 23 แบบสำหรับบริษัทต่างๆ ซึ่งตัวแบบเหล่านี้ก็คือกลยุทธ์ในการแข่งขันขององค์กร โดยตัวแบบทั้ง 23 ประการนี้สามารถใช้เป็นเครื่องมือสำหรับผู้บริหารในการกำหนดกลยุทธ์ในการแข่งขันขององค์กร สำหรับวิธีการเขียนของผู้เขียนท่านนี้ก็แปลกกว่าชาวบ้านเขา นั้นคือแทนที่จะเขียนในลักษณะเดียวกับหนังสือด้านการจัดการอื่นๆ เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้จะนำเสนอผ่านบทสนทนาของคนสองคนคือผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญทางด้านกลยุทธ์ และจากบทสนทนาเหล่านั้นทำให้สามารถเรียนรู้ถึงวิธีการในการทำกำไรในรูปแบบต่างๆ

สุดยอดหนังสือทางด้านกลยุทธ์เล่มที่สามชื่อ Out of the Box: Strategies for Achieving Profits Today and Growth Tomorrow through Web Services เขียนโดย John Hagel III ซึ่งเป็นหนังสือที่บอกเล่าถึงกลยุทธ์แนวใหม่ที่ใช้การให้บริการบน Web ถึงแม้หนังสือเล่มนี้จะพูดถึงเทคโนโลยีสารสนเทศค่อนข้างมาก แต่ก็ยังคงเป็นหนังสือที่แสดงถึงกลยุทธ์อยู่ โดยพยายามนำเสนอถึงโอกาสทางกลยุทธ์ที่องค์กรจะได้รับจาก Web services technology สุดยอดหนังสือด้านกลยุทธ์เล่มสุดท้ายเขียนขึ้นโดย Martha Amran ชื่อ Value Sweep: Mapping Corporate Growth Opportunities ซึ่งเป็นหนังสือที่นำเสนอถึงวิธีการในการเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสม โดยนำเสนอถึงวิธีการในการประเมินโอกาสในการเติบโต และเป็นหนังสือที่สามารถนำเสนอวิธีการที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงๆ สำหรับการประเมินทางเลือกของกลยุทธ์ในแต่ละด้าน 

สำหรับหนังสือในกลุ่มที่สองที่เป็นทางด้านการจัดการนั้น วารสาร Strategy + Business เขาเริ่มจากหนังสือที่ได้เคยพูดถึงในคอลัมภ์แห่งนี้คือ The Heart of Change: Real-Life Stories of How People Change Their Organizations เขียนโดย John P. Kotter หนังสือเล่มนี้ถือเป็นตอนต่อของหนังสือเล่มแรกของผู้เขียนที่ชื่อ Leading Change ที่ได้ตีพิมพ์ในปี 1996 โดยหนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอถึงกรณีศึกษาของผู้นำกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดย Kotter ได้ไปสัมภาษณ์ผู้บริหารกว่า 200 คน เพื่อให้ได้เรื่องมาเป็นกรณีศึกษาประกอบกับแนวคิดด้านผู้นำกับการเปลี่ยนแปลงตามที่ Kotter ได้นำเสนอไว้ในหนังสือเล่มแรก จริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้ได้เข้ามาขายในเมืองไทยมานานพอสมควรแล้ว แต่รู้สึกว่าเพิ่งจะมาตื่นตัวกันในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หนังสือด้านการจัดการเล่มที่สองก็เป็นหนังสือที่วางขายในเมืองไทยกันมากพอสมควร คือเรื่อง Primal Leadership: Realizing the Power of Emotional Intelligence โดย Daniel Goleman และคณะ หนังสือเล่มนี้ถือเป็นเรื่องที่สามของ Daniel Goleman ที่เกี่ยวข้องกับ Emotional Intelligence ในหนังสือเล่มนี้พยายามที่จะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Emotional Intelligence กับภาวะผู้นำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วการที่จะเป็นผู้บริหารที่ดีขึ้นจะต้องมีระดับของ EI ที่สูงขึ้น Goleman ได้เสนอในหนังสือเล่มนี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์ของผู้บริหารต่อความสามารถในการดำเนินงานขององค์กร เล่มต่อมานั้นชื่อค่อนข้างยาวคือ What Management Is: How It Works and Why It’s Everyone Business แต่งโดย Joan Magretta และ Nan Stone ในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนมองว่าการจัดการคือความสามารถในการเปลี่ยนสิ่งที่สลับซับซ้อนและความเชี่ยวชาญสู่ผลการดำเนินงาน หนังสือเล่มนี้พยายามนำเสนอให้ผู้บริหารได้เห็นว่าสุดท้ายแล้วกลยุทธ์และการจัดการย่อมวกกลับมาสู่รากฐาน

หนังสือในหมวดต่อไปเป็นหมวดใหม่ที่เพิ่งมีในปีนี้ ซึ่งก็ดูแล้วท่าจะเหมาะสมกับสภาวการณ์ในการทำธุรกิจในปัจจุบันที่สังคมและประชาชนได้จับตามองจริยธรรมในการธุรกิจของผู้บริหารมากขึ้น หนังสือในหมวดนี้ไม่ค่อยได้เจอในไทยนัก ไม่รู้ว่าขายดีจนไม่มีเหลือ หรือผู้นำเข้ายังไม่เห็นความสำคัญของหนังสือในหมวดนี้กันมากนักจนไม่ได้สั่งเข้ามาจำหน่าย ตัวอย่างของหนังสือในหมวดนี้เช่น Moral Hazard เขียนโดย Kate Jennings ซึ่งเป็นหนังสือในลักษณะของนวนิยาย โดยผู้เขียนได้เขียนหนังสือเล่มนี้ในลักษณะของอัตชีวประวัติของผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ในธนาคารแห่งหนึ่งที่เต็มไปด้วยผู้บริหารชายในอเมริกา และตัวเอกจะต้องเผชิญกับความขัดแย้งทั้งเรื่องของค่านิยมส่วนตัวและจริยธรรมของผู้บริหารรอบตัว หนังสือเล่มต่อมาชื่อ How Companies Lie: Why Enron Is Just the Tip of the Iceberg เขียนโดย Larry Elliott และ Richard J. Schroth เห็นชื่อก็คงไม่ต้องบอกนะครับว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับเรื่องอะไรนะครับ

ในหมวดสุดท้ายคือในหมวดของภาวะผู้นำ ที่เปิดขึ้นมาด้วย Geeks and Geezers: How Era, Values, and Defining Moments Shape Leaders เขียนโดยปรมาจารย์ด้านผู้นำคือ Warren Bennis และ Robert Thomas โดยหนังสือเล่มนี้ได้นำแนวคิดของ Bennis ที่เขียนไว้ในหนังสือ On Becoming a Leader มาสานต่อ โดยมองว่าผู้นำเกิดขึ้นจากส่วนผสมระหว่างบุคลิกภาพของแต่ละตนผสมผสานกับเหตุการณ์หรือสภาวการณ์ที่บุคคลผู้นั้นเผชิญในช่วงปีแรกๆ สิ่งที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้คือผู้เขียนมองว่าแนวทางการพัฒนาบุคลากรในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกผู้บริหาร การอบรม การหมุนเวียนงาน รวมทั้งงบประมาณต่างๆ ที่ใช้จ่ายลงไปในกิจกรรมเหล่านี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์เท่าใดในการพัฒนาผู้บริหาร ในหนังสือเล่มนี้ได้เสนอว่าการที่ผู้บริหารจะพัฒนาได้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการพัฒนาและปรับปรุงตนเอง ส่วนหนังสือเล่มที่สองในหมวดของภาวะผู้นำชื่อ Leadership on the Line: Staying Alive Through the Dangers of Leading  โดย Ronald A. Heifetz และ Marty Linsky โดยหนังสือเล่มนี้นำเสนอถึงวิธีการในการที่จะพัฒนาผู้บริหารให้มีความสามารถในการที่ช่วยให้ผู้อื่นสามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเอง เพื่อที่จะได้พัฒนาองค์กรต่อไป อีกเล่มถือเป็นหนังสือขายดีสุดยอดของปีนี้อีกเล่มหนึ่งคือ Good to Great: Why Some Companies Make the Leap…and Others Don’t โดย James Collins คงจะไม่ต้องอธิบายสรรพคุณของหนังสือเล่มนี้มากนักเนื่องจากเป็นหนังสือขายดีที่สุดประจำปีก็ว่าได้ และมีขายอยู่ทั่วไปในประเทศไทย สุดท้ายเป็นหนังสือที่ผมค่อนข้างชื่นชอบและเคยนำเสนอเนื้อหาไปในบทความนี้หลายครั้งแล้วคือหนังสือเรื่อง Execution โดย Larry Bossidy และ Ram Charan ที่มุ่งเน้นในเรื่องของการปฏิบัติงานให้ได้เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน


นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสุดยอดหนังสือด้านการจัดการที่ดีที่สุดในปีนี้ สำหรับเล่มอื่นๆ ถ้ามีโอกาสผมจะมานำเสนอต่อไป หรือท่านผู้อ่านอาจจะลองไปหาจากวารสาร Strategy + Business ในอินเตอร์เน็ตดูก็ได้นะครับ สวัสดีปีใหม่ครับ

No comments:

Post a Comment